สมาชิกโครงการ ERASMUS+ FRAME ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ RECOFTC-EXPLORE

สมาชิกโครงการ ERASMUS+ FRAME ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ RECOFTC-EXPLORE เพื่อการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาวิจัยและการเรียนรู้การบริหารจัดการการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

สมาชิกโครงการ ERASMUS+ FRAME จากประเทศ สปป.ลาว (มหาวิทยาลัยสะหวันเขต แขวงสะหวันนะเขต มหาวิทยาลัยสุภาณุวงศ์ แขวงหลวงพระบาง) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาแนวคิดการวิจัยเสนอรับทุนจากโครงการ EXPLORE ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอโครงการศึกษาวิจัยการบริหารจัดการการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมในประเทศ สปป.ลาว และ ประเทศไทย

“การส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะการศึกษาเชิงลึกในด้านนี้เมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติพบว่ายังมีในวงจำกัด การส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยในภูมิภาคเพื่อให้เกิดองค์ความรู้และการนำใช้ โดยเฉพาะการส่งชุดความรู้จากการวิจัยเชื่อมต่อถึงระดับผู้วางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ตลอดรวมถึงการสร้างความเข้าใจของทุกภาคส่วนในสังคมเกี่ยวกับบทบาทและสิทธิของภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้”

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า

ด้วยเหตุผลของความเหลื่อมล้ำของศักยภาพชองนักวิจัยดังกล่าว โครงการ EXPLORE จึงได้กำหนดเป้าประสงค์หลักของงาน คือการเสริมสร้างศักยภาพนักวิจัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เช่นสถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย ภาครัฐ และ ภาคประชาสังคม ซึ่งเป้าประสงค์นี้เป็นไปในทางเดียวกันกับเป้าประสงค์ของโครงการ ERASMUS+ FRAME โดยโครงการ EXPLORE มุ่งเน้นในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน เพื่อสร้างยกระดับความรู้และพัฒนาบทบาทในการมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมความอยู่ดีกินดี และสร้างความสมดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการจัดการเพื่อความยั่งยืนของสหประชาติ

ในการดำเนินการพัฒนาศักยภาพดังกล่าวจะดำเนินการผ่านกระบวนให้ทุนสนับสนุนการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัย และนำไปสู้การให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยพร้อมจัดให้มีที่ปรึกษาและคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำแนะนำและชี้แนะให้การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยได้สำเร็จและเป็นโครงการวิจัยคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ซึ่งในโอกาสอันดีนี้ ทีมนักวิจัยที่ได้รับทุนครั้งนี้ประกอบด้วยทีมนักวิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (นำโดย ผศ. ดร.ดำรง พิพัฒนวัฒนากุล) ทีมนักวิจัยจากคณะเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต (นำโดย ดร.อุเทวี วงศ์มณี) และทีมนักวิจัยจากคณะการจัดการทรัพยากร มหาวิทยาลัยสุภาณุวงศ์ (นำโดย ดร.วงศ์ประสิทธิ์ จันทร์กูล)

การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยในครั้งนี้ ยังมี ดร.นิค โฮการ์ท (ผู้ประสานงานโครงการ ERASMUS+ FRAME สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ป่าไม้ มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์) เป็นที่ปรึกษาวิชาการให้กับทีมงาน โดยที่ผ่านมา ดร.นิค โฮการ์ท ได้ชี้แนะแนวทางการวางกรอบแนวคิดการวิจัยตลอดจนแก้ไขปรับปรุงภาษาทำให้แนวคิดการวิจัยของทีมงานประสบผลสำเร็จ แนวคิดการวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ในต้นน้ำของประเทศ สปป.ลาว และประเทศไทย: ข้อจำกัดและโอกาสในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน” แนวคิดนี้จะศึกษาในพื้นที่ต้นน้ำในประเทศ สปป.ลาว และประเทศไทย ดังแสดงในภาพที่ 1 และมีวัตถุประสงค์หลักในการวินิจฉัยและจำแนกข้อจำกัดและโอกาสของการสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้และสร้างความตระหนักร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มสตรี เยาวชน และภาครัฐ

ภาพที่ 1 แสดงพื้นที่ศึกษาใน แขวงสะหวันนะเขต แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว และพื้นที่ศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย

ผศ. ดร. ดำรง พิพัฒนวัฒนากุล หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวถึงความคาดหวังจากความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

“การพัฒนาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ เป็นเรื่องที่สำคัญต่อภาคการศึกษาของทั้งสองประเทศ งานวิจัยในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างเสริมประสบการณ์วิจัยท้องถิ่นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้” ผลของการศึกษาในครั้งนี้นอกจากจะช่วยสนับสนุนแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ สนับสนุนการลดปัญหาความยากจน ลดปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในมุมมองของการพัฒนาการศึกษา งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์และนักวิจัยให้มีความรู้และประสบการณ์การทำงานวิจัยท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม และจะเป็นบทเริ่มต้นของการสร้างมิติของการเรียนรู้ไว้ในสถาบันการศึกษาที่จะสามารถถ่ายทอดให้กับนักศึกษาจากรุ่นสู่รุ่น และพื้นที่ศึกษาวิจัยในครั้งนี้จะเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และวิจัยต่อไปอีกด้วย”

ดร.นิค โฮการ์ด หัวหน้าโครงการ ERASMUS+ FRAME แห่งมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ได้กล่าวสนับสนุนว่า

“แนวทางการพัฒนาศักยภาพของโครงการ EXPLORE ที่นอกจากจะสนับสนุนงบประมาณในการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น การค้นหานักวิจัยท้องถิ่น เพื่อร่วมในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยแล้ว ยังจัดให้มีที่ปรึกษาประจำทีมงาน มีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจสอบข้อเสนอโครงการวิจัย รวมถึงสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาช่วยแก้ไขภาษา ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง และเป็นแนวทางที่จะสามารถสร้างผลกระทบในการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางการศึกษาและวิจัยในภูมิภาคได้อย่างดียิ่ง และอีกทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติในลักษณะ North-South-South อีกด้วย”

กระบวนการในการพัฒนาข้อเสนอโครงการครั้งนี้จะมีระยะเวลาระหว่าง เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายนักวิจัย โครงการ RECOFTC’s EXPLORE คลิก
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการ ERASMUS+ FRAME คลิก

สมาชิกโครงการ ERASMUS+ FRAME ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ RECOFTC-EXPLORE
Tagged on: